เราจะแก้ความกลัวทางการสื่อสารอย่างไรดี ?

เราจะแก้ความกลัวทางการสื่อสารอย่างไรดี ?

‘ความกลัว’ เป็นสิ่งที่ทุกคนน่าจะมีอยู่เหมือนๆกัน บางคนกลัวมาก บางคนกลัวน้อย และหนึ่งในความกลัวยอดฮิตน่าจะไม่พ้น ‘ความกลัวในการสื่อสาร’ ที่สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งการพูดต่อหน้ากลุ่มคนเล็กๆ ไปจนถึงการพูดต่อหน้าที่ประชุมใหญ่ๆ ที่เต็มไปด้วยคนไม่คุ้นหน้า แต่วันนี้เราจะมาชวนเอาชนะความกลัว ให้การพูดครั้งต่อไปของคุณคล่องแคล่วเหมือนโปรเฟชชันนอลมาเอง

อย่ากังวลความกลัวของตัวเอง : ยิ่งกลัว ยิ่งกังวล ยิ่งกดดัน จนท้ายที่สุดผลลัพธ์ออกมาไม่สวยยิ่งกว่าที่คาด จริงๆ ‘ความกลัวในการสื่อสาร’ มีอยู่ในตัวทุกคน ไม่ว่าจะนักพูดที่เก่งระดับโลก ก็ยังยอมรับว่ายังมีความกลัว และกังวลทุกครั้งที่จะต้องพูด ดังนั้นสงบอารมณ์ และบอกตัวเองว่า ความกลัวนั้นมันก็แค่เรื่องปกติ
รู้จุดบอด ว่าตัวเองกลัวอะไร : ต้องมานั่งทบทวนตัวเองก่อนว่า จริงๆแล้วเรามีจุดกลัวอะไรที่ทำให้เราไม่กล้าสื่อสารออกไป อาจจะเป็นเหตุผลอย่างข้างต้น หรือเหตุผลอื่นๆ ลองค้นหาตัวเองดูก่อน
ลองเปิดใจพูดคุยให้มากขึ้น : เริ่มต้นอย่างง่ายๆด้วยการลองชวนเพื่อนที่ทำงานคุย ลองคุยกับคนที่เราไม่สนิทสนมด้วยบ้าง และลองเลือกกลุ่มคนที่เราคุยด้วยต่างเพศ ต่างวัย ต่างอาชีพ เพื่อให้เรารู้ว่าแต่ละคนมีแนวความคิดอย่างไร และกลับมาประเมินตัวเองอย่างตรงไปตรงมาว่าเราทำได้ดีแล้วหรือยัง
ฝึกวิเคราะห์คนฟังช่วยได้ : หลายครั้งที่เรารวบรวมความกล้าจนพาตัวเองก้าวไปเตรียมพร้อมจะพูด แต่กลับไม่มีคนสนใจฟัง จนทำให้เรากลัวการพูดขึ้นมาอีกครั้ง ขอแนะนำให้ลองวิเคราะห์กลุ่มคนฟังของเราว่าส่วนมากเป็นใคร อายุเท่าไหร่ และลองเปิดการพูดด้วยเรื่องที่กลุ่มคนฟังสนใจ แล้วค่อยโยงเข้าหาเรื่องที่เราจะพูดก็จะช่วยให้คนฟังสนใจเรามากขึ้นได้
ลองเขียนสคริปต์ จับประเด็นก่อน : การร่างสคริปต์ก่อนที่จะลองฝึกพูด จะช่วยทำให้เราเรียบเรียงความคิด และเนื้อหาที่จะพูดก่อนหลังได้ ทำให้เราไม่หลงประเด็นที่จะพูด และยังลำดับเรื่องราวที่จะพูดให้เป็นขั้นเป็นตอนได้ เหมือนนักพูดมืออาชีพ
รู้จริงในสิ่งที่ต้องพูด : ถึงแม้จะพูดได้คล่องขนาดไหน แต่ข้อมูลเป็นศูนย์ก็ตกม้าตายได้ไม่ยาก ก่อนที่จะต้องพูดเรื่องอะไรก็แล้วแต่ หาข้อมูล และอ่านศึกษาเรื่องราวนั้นๆให้เข้าใจก่อน อาจจะไม่ต้องรู้ระดับโปร แต่ให้มีพื้นความรู้ในการที่จะพูดต่อยอดไปได้ก็เริ่ดแล้ว
ยิ่งฝึกมาก ยิ่งเก่งมาก : ข้อสำคัญที่สุดคือ เราต้องผ่านการฝึกเยอะๆ ลองฝึกพูดหน้ากระจก หรืออัดวิดีโอระหว่างที่ตนเองพูด แล้วนำมาเปิดดูซ้ำว่าเรามีผิดพลาดตรงไหน เช่นอาจจะพูดช้า หรือเร็วไป อาจจะมีบางตอนที่พูดวกวนไปมา เราจะได้รีบแก้ก่อนที่จะถึงสถานการณ์จริง
จากทริคง่ายๆข้างต้น อยากจะให้ลองไปปรับใช้กันดู รับรองว่าคุณก็จะกลายเป็นคนที่สื่อสารได้เก่ง พูดได้น่าฟัง และทำให้คุณมั่นใจในการพูดได้มากขึ้นอย่างแน่นอน

ติดต่อเรา
E-mail: info@brandcom.co.th
Line: @brandcommunication

thThai